สิทธิ GSP คืออะไร ??
GSP ย่อมาจาก Generalized System of Preferences เป็นมาตรการหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation หรือ WTO) ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในรูปแบบของการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าแก่สินค้าที่อยู่ในข่ายที่ได้รับสิทธิ GSP ตามแต่ระบบใดจะกำหนดขึ้น ทั้งนี้ประเทศผู้ให้สิทธิพิเศษฯ จะเป็นผู้ให้แต่เพียงฝ่ายเดียว (เป็นสิทธิให้เปล่า)
ความเป็นมาของสิทธิ GSP ที่สหรัฐฯ ให้แก่ประเทศไทย ??
สหรัฐอเมริกาได้เริ่มโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ทั้งนี้รวมถึงประเทศไทยด้วย ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา โดยอาศัยอำนาจตามรัฐบัญญัติทางการค้าปี 2517 (Trade Act of 1974) เพื่อเปิดโอกาสให้สินค้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ
สถานการณ์ล่าสุด...
สหรัฐอเมริกามีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยไม่จัดให้มีการรับรองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งการตัดสิทธิดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 25 เมษายน 2020
พิกัดสินค้าของไทยที่ถูกตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐอเมริกา
สินค้าที่ไทยถูกตัดสิทธิครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 573 รายการ ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยมีสินค้าที่เป็นพิกัดชิ้นส่วนฯ อยู่บ้าง อาทิเช่น หัวเทียน (Spark plugs) , มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (AC motors) เป็นต้น
ทำอย่างไร...หากถูกตัดสิทธิ GSP
- สมาชิกฯ ควรเช็คพิกัดให้แน่ชัด ว่าใช่พิกัดที่ท่านได้มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จริงหรือไม่
- หากสินค้าของท่านเป็นสินค้าที่ถูกตัดสิทธิจริง ขอให้ท่านรีบติดต่อไปยังผู้นำเข้าที่สหรัฐฯ (คู่ค้าของท่าน) เพื่อสอบถามว่าการถูกตัดสิทธินี้ มีผลกระทบหรือไม่
- หากคู่ค้าของท่าน แจ้งว่าจะมีผลกระทบ ขอให้รีบแจ้งกลับมายังสมาคมฯ พร้อมทั้งแนบข้อมูลพิกัดสินค้า อัตราภาษี เพื่อที่ทางสมาคมฯ จะได้รวบรวมข้อมูลผลกระทบนำเสนอและหาทางแก้ปัญหาร่วมกับทางภาครัฐฯ ต่อไป
- หากสินค้าของท่านอยู่ในรายการที่ถูกตัดสิทธิ GSP จริง ต้นทุนของสินค้าที่ท่านส่งออกจะมีภาระภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งอาจมีความจำเป็นในการปรับราคาซื้อขายหรือเพิ่มกำลังผลิตเพื่อส่งออกไปยังคู่ค้าก่อนอัตราภาษีจะปรับตัวสูงขึ้น